วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ความหมายของกระบวนการ

ความหมายและกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ภายใต้แนวคิด และหลักการดังกล่าว จึงเกิดคำนิยามใหม่สำหรับงานวิจัยว่าเป็น “กระบวนการ ที่คนในชุมชนได้มาร่วมคิดทบทวนสถานการณ์ ตั้งคำถาม วางแผน หาข้อมูล ทดลองทำ วิเคราะห์ สรุปคำตอบ และถอดบทเรียนเพื่อปรับปรุงงานต่อไป” นั่นหมายความว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เน้นการให้ “คน” ในชุมชน เข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัย ตั้งแต่การเริ่มคิด การตั้งคำถาม การวางแผน และค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบ โดยมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Action Research) ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ ได้ผลงานและเก่งขึ้นในการแก้ปัญหาของตนเอง ตลอดจนยกระดับการแก้ปัญหาให้มีความน่าเชื่อถือสูง และสามารถ ใช้กระบวนการนี้ ในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในท้องถิ่น มีกระบวนการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นเหตุ เป็นผล ดังนั้น จุดเน้นของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ก็คือ เน้นที่ “กระบวนการ” มากกว่า “ผลลัพธ์” เพื่อให้ชาวบ้าน ได้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง ให้งานวิจัย มีส่วนในการแก้ปัญหาของชาวบ้าน และเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง ในชุมชน ซึ่งจะต้องอาศัย “เวที” (การประชุมเสวนา ถกเถียง) เป็นเครื่องมือ เพื่อให้คนในชุมชน ได้มีส่วนร่วม ทั้งกลุ่มชาวบ้าน ครู โรงเรียน เอ็นจีโอ สมาชิก อบต. กรรมการสหกรณ์ ข้าราชการ หรือกลุ่มคนอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมใช้ “ปัญญา” ในกระบวนการวิจัย
โดยสรุป “กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” หมายถึง การทำงาน อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อตอบ “คำถาม” หรือ “ความสงสัย” บางอย่าง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือประเด็น “คำถาม” ต้องคมชัด โดยมีการแยกแยะประเด็นว่า ข้อสงสัยอยู่ตรงไหน มีการหา “ข้อมูล” ก่อนทำ มีการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูล มีการ “วางแผน” การทำงาน บนฐานข้อมูลที่มีอยู่ และในระหว่างลงมือทำการ “บันทึก” มีการ “ทบทวน” ความก้าวหน้า “วิเคราะห์” ความสำเร็จและอุปสรรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อ “ถอด” กระบวนการเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นออกมาให้ชัดเจน ในที่สุดก็จะสามารถ “สรุปบทเรียน” ตอบคำถามที่ตั้งไว้ แล้วอาจจะทำใหม่ให้ดีขึ้น ตลอดจน สามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนสำหรับเรื่องอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้กระทำโดย “ผู้ที่สงสัย” (คนในท้องถิ่น) นั่นเอง
วิธีการนี้ เป็นงานวิจัยอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ยึดติดกับระเบียบแบบแผน ทางวิชาการมากนัก แต่เป็นการสร้างความรู้ ในตัวคนท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น มุ่งแก้ไขปัญหา ด้วยการทดลองทำจริง และมีการบันทึก และวิเคราะห์ อย่างเป็นระเบียบ การวิจัยแบบนี้ จึงไม่ใช่เครื่องมือทางวิชาการ ที่จะขอตำแหน่ง ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ ที่ผูกขาดอยู่กับครูบาอาจารย์ แต่เป็นเครื่องมือธรรมดา ที่ชาวบ้านก็ใช้เป็นประโยชน์ ในชีวิตประจำวันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น