วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แนวคิดและหลักการ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
คู่มือการบริหารงานและการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เล่มที่ 1

ฐานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมุมมองของนักคิด กับกระแสความเคลื่อนไหวของโลก ฐานคิดการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ศ.เสน่ห์ จามริก
… วิจัยที่แท้จริงนั้น จะต้องเป็นการวิจัยที่หมายความถึง การแสวงคำตอบที่เป็นระบบ เปิด … และเรื่องของการพัฒนาจะต้องตั้งโจทย์ที่เป็นระบบเปิด ฉะนั้น นอกจากเข้าใจปัญหา และมองแนวทางในการแก้ปัญหา .. เราก็มีโจทย์ในการวิจัยนั้น ซึ่งได้ชี้ช่องทางให้เราเห็นถึง .. แนวทางการพัฒนา หมายความว่า เป็นการพัฒนาต่อไป .. เป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของท้องถิ่นโดยเฉพาะ .. การทำงานวิจัยในรูปนี้ .. เราจะต้องมองเงื่อนไขศักยภาพ เพื่อที่จะให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ …
การวิจัยเพื่อท้องถิ่น : นัยและบริบท
ประการแรก สิ่งที่เราจะพูดในที่นี้ มันเป็นเรื่องของ “ชีวิตกับสังคม” เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงชีวิตกับสังคมแล้ว ก็หมายความว่า ประกอบไปด้วยมิติที่หลากหลาย ในขณะเดียวกับท่านทั้งหลายที่เข้ามาร่วมกันใน ณ ที่นี้ ก็จะมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ บทบาทเฉพาะต่างๆ เพราะฉะนั้น ในการเสวนาในวันนี้นั้น ก็อยากจะเรียนว่า พวกเราทุกคน รวมทั้งผม คงต้องพยายามที่จะถอดใจอกจากประสบการณ์เฉพาะด้านออกไป เพราะว่าเรากำลังเข้ามาเกี่ยวข้องกับ “ชีวิต” ซึ่งประกอบหลายมิติเข้าด้วยกัน ไม่เฉพาะเรื่องของสุขภาพอนามัย การเกษตร การทำมาหากิน การค้าขายเท่านั้น แต่ว่าเป็นเรื่องของชีวิตกับสังคมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็คงเป็นแบบฝึกหัดเบื้องแรก ในการที่เราจะมองไปในโลกของการวิจัยอย่างที่มีความหมาย ตรงนี้น่าจะเป็นฐานตั้งต้นที่เราเริ่ม เพราะถ้าเรายังจำกัดตัวอยู่ในความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์เฉพาะตัวแล้ว งานวิจัยที่เราพูดถึงว่า “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” ก็คงมีความหมายที่ลดน้อยลงไป เพราะฉะนั้น ในการเสวนาครั้งนี้ ผมก็หวังว่าจะได้รับฟังจากประสบการณ์ ความรู้ ข้อมูล ของท่านทั้งหลาย ซึ่งมาจากด้านต่างๆ แล้วเราก็เอามากองรวมกันเอาไว้ เพื่อจะได้นำไปวิเคราะห์ประเด็นปัญหาให้ชัดเจนขึ้น การปลอดปล่อย การปลดแอก จากความชำนาญการเฉพาะด้านนั้น ผมว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ประการที่สอง อยากจะเรียนว่า กระแสของการพัฒนา กระแสของการวิจัยเพื่อการพัฒนา รวมทั้งวิจัยขั้นพื้นฐาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนั้น ผมคิดว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราได้ผ่านช่วงของความคิดแบบเบื้องบนสู่ล่าง เปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดที่จะให้ผู้ที่อยู่ในฐานะที่เคยรับการพัฒนา มาสู่ฐานะที่จะพัฒนาตัวเองขึ้น จะเห็นว่าเมื่อ 20 – 30 ปีก่อน เราจะได้ยินได้ฟังเสมอ เรื่องความจำเป็นพื้นฐาน หมายความว่า เป็นเรื่องที่นักวิชาการ หรือทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่มาวิจัย ก็จะมาสำรวจดูว่า จ.ป.ฐ. หรือความจำเป็นพื้นฐาน มันคืออะไร แต่นั่นผมคิดว่ามันเป็นการวิจัย การพัฒนาที่เป็น “การจราจรทางเดียว” เป็นการวิจัย การพัฒนาที่รู้ดีว่า ถ้าชาวบ้านจะมีความจำเป็นพื้นฐานที่ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะต้องเป็นอย่างนี้ ตามความต้องการจากข้างบน ซึ่งก็ไม่ใช่ผิดทั้งหมด เช่นว่า ต้องมีโภชนาการที่ดี จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่ดี สิ่งพวกนี้มันไม่ได้ผิดในตัวของมันเอง แต่ว่ามันผิดในแง่ของกระบวนการ คือ เวลาที่เราวิจัยหรือพัฒนา เรามองเป้าหมายเป็นหลัก เหมือนกับในระบอบเผด็จการ อำนาจเบ็ดเสร็จ อย่างแบบคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ตรงนี้เรากำลังเคลื่อนตัวมาสู่ยุคของการพัฒนาที่เรียกว่า “พัฒนาเพื่อการพัฒนาตัวเอง” “การพึ่งตนเอง” แล้วเราก็ยังมีแถมด้วยคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นยุคซึ่งจะเห็นว่าเป็นการเคลื่อนตัวมา ที่ไม่ใช่ในแง่ของความคิดอย่างเดียว แต่การเคลื่อนไหวมาสู่ช่วงใหม่นี้ เป็นการทบทวนถึงความผิดพลาด ความล้มเหลว ของแนวคิดหรือฐานความคิดที่กำหนดโจทย์ กำหนดกระบวนการพัฒนา กระบวนการวิจัย ในลักษณะที่เป็นจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างเป็นหลัก แล้วก็ประสบความล้มเหลวมาโยตลอด ในขณะเดียวกัน ก็มองว่า ความล้มเหลวนี้ นำไปสู่ความสูญเสียมากมาย อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาความล่มสลายของสถาบันสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ศาสนา ความเป็นชุมชน รวมทั้งความสูญเสียในเชิงของทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม เป็นไปอย่างที่เรียกว่า เป็นปรากฏการณ์ความสูญเสียที่น่ากลัว แล้วก็เป็นเรื่องที่ยากในการที่จะฟื้นกลับคืนมาได้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ เรามาถึงช่วงการปรับความคิด โดยจากการเรียนรู้ถึงความผิดพลาด ความล้มเหลวต่างๆ สิ่งที่เป็นความคิดนี้ก็คือ เรื่องการพัฒนาตนเอง การพึ่งตนเอง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
คำถามก็คือ ที่เราพูดกันในวันนี้ว่า “การวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เราจะคิดกันอย่างไร ผมคิดว่าเราคงไม่ใช่มาตั้งต้นโดยไม่ได้ย้อนทบทวนไปถึงความผิดพลาด ความล้มเหลวที่ผ่านมาจากอดีต เราเรียนรู้จาดอดีต เหมือนกับเป็นไฟฉาย ที่ฉายแสงสว่างให้เราเห็น สิ่งที่น่าจะพึงปรารถนาในอนาคต นั่นก็คือ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่จะพัฒนาท้องถิ่นนั้น ได้ก้าวเดินไปในกระบวนการของการพัฒนา ผมขอเน้นคำว่า “กระบวนการ” ไม่ควรเน้นว่า “เป้าหมาย” แต่ว่าเป็นกระบวนการ ที่จะนำไปสู่ขีดความสามารถในการพัฒนาตัวเอง คือเวลาที่เราพูดถึงพึ่งตนเอง จะต้องอยู่บนฐานของขีดความสามารถในการพัฒนาตัวเองด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ที่คอยรับผลบวกของการพัฒนา อย่างเช่น ใน จ.ป.ฐ. เขาบอกว่า โภชนาการชาวบ้านควรจะได้บริโภคอาหารที่มีธาตุอาหาร เราก็ส่งเสริมลงไป หรือว่าเราสำรวจแล้วบอกว่า ชุมชนชาวบ้านที่นี่ยากจน เพราะว่ามีรายได้ต่ำ เราก็อัดฉีดเงินเข้าไป อย่างที่เคยผ่านมาแล้ว เช่น เรื่องระบบเงินผัน หรือว่าในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ที่เราพูดถึงเขตยากจนอะไรต่างๆ เป็นพวกราชการมาขีดทั้งนั้น ว่าเขตไหนยากจน เขตไหนไม่ยากจน มาย้อยแค่ไหน แล้วเราก็อัดฉีดรายได้เข้าไป เพื่อที่เราจะเปลี่ยนจากสภาพนั้น หลักการหรือเป้าหมายสำคัญในการวิจัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่น คงต้องมองไปในแนวทางในแสงสว่างใหม่ เพื่อที่จะได้มีเป้าหมาย 3 ประการด้วยกัน คือ เพื่อให้ท้องถิ่นนั้น สามารถพัฒนาตนเองได้ สามารถพึ่งตนเองได้ และก็พัฒนาอย่างยั่งยืน หมายความว่า เป็นความยั่งยืนทั้งตัวเอง ยั่งยืนในฐานทรัพยากรธรรมชาติ หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือนเป็นสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน เป็นด้านหัวกับด้านก้อย เพราะฉะนั้น การพึ่งตัวเอง การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่คนยั่งยืนเพียงอย่างเดียว แต่หมายความว่าตัวฐานทรัพยากร ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต และสังคมก็จะต้องเป็นด้านที่จะต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน
ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่คงจะต้องตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจปัญหาให้ชัดเจน การเข้าใจในตัวปัญหานี้ เป็นสิ่งที่เป็นเบื้องต้น การเข้าใจปัญหาจะทำให้เราสามารถตั้งโจทย์ในการวิจัยอย่างถูกต้อง และเหมาะสมได้ นอกจากเข้าใจปัญหาแล้ว ถ้าเราตั้งโจทย์ดีๆ และตั้งกระบวนการวิจัยให้ดีแล้ว ก็มีประเด็นที่ว่า จะเป็นการวิจัยที่นำไปสู่แนวทางที่ไม่ใช่เป็นคำตอบสำเร็จรูป หรือจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร การวิจัยนั้น ไม่ใช่เป็นการวิจัยเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงปฏิเสธคำว่า “กรอบทางความคิด” ในการวิจัย เพราะทุกครั้ง เวลาที่เราวิจัย ที่เราเรียนหนังสือกันมา บอกว่ามีสมมติฐาน มีกรอบความคิดหรือที่เราเรียกว่า Conceptual Framework คำว่า “กรอบ” ตรงนี้เป็นคำที่ชวนให้เราเข้าใจว่า เป็นการวิจัยเพื่อที่จะนำไปสู่คำตอบอันหนึ่งที่กำหนดไว้ เช่น เราทำงานวิจัยให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ปัญหาการขาดทุนของเขา จะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาการขาดทุน และได้กำไรเพิ่มมากขึ้น อย่างนี้เป็นต้น เรามีคำตอบที่กำหนดไว้ แล้วเราก็ตั้งกรอบไว้เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ เพราะฉะนั้น งานวิจัยในรูปแบบนี้ จึงเป็นงานวิจัยที่ขาดความเป็นอิสระ เพราะถูกำหนดโจทย์เอาไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นเจ้าของทุน ผมเคยนั่งอยู่ในบอร์ดของ TDRI แล้วเคยตั้งคำถามว่า สิ่งที่ TDRI ทำนี้ ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Consultancy เป็นการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำกับตัวเจ้าของแหล่งทุน มากกว่าที่จะเป็นงานวิจัย หรือเป็น Real Research อย่างแท้จริง
Research ที่แท้จริงนั้น จะต้องเป็นการวิจัยที่หมายความถึง การแสวงคำตอบที่เป็นระบบเปิด คือไม่ใช่เป็นคำตอบ ที่สิ้นสุดความต้องการของอันหนึ่ง อันใดโดยเฉพาะ และในเรื่องของการพัฒนาก็จะต้องตั้งโจทย์ที่เป็นระบบเปิด เพราะฉะนั้น นอกจากเข้าใจปัญหา และมองแนวทางในการแก้ปัญหาที่เรามองเห็น ปัญหาความยากจน และมองแนวทางในการแก้ปัญหาที่เรามองเห็น ปัญหาความยากจน ปัญหาโภชนาการ อะไรต่างๆ เราก็มีโจทย์ในการวิจัยนั้น ซึ่งได้ชี้ช่องทางให้เราเห็นถึงสิ่งที่ผมเรียกว่า “แนวทางการพัฒนา” หมายความว่า เป็นการพัฒานาต่อไป ซึ่งผมเรียกว่าเป็น “ระบบเปิด” ที่เป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของท้องถิ่นโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น ในการทำงานวิจัยในรูปนี้ก็หมายความว่า เราจะต้องมองเงื่อนไข ศักยภาพ เพื่อที่จะให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ หลังจากที่เข้าใจปัญหาแล้ว แก้ปัญหาที่อาจจะเรียกว่า ปัญหาที่สามารถมองเห็นได้ เช่น ปัญหาปวดหัว ตัวร้อน ไข้ขึ้น พวกนี้แล้ว ทำอย่างไรที่จะให้สามารถดำรงชีวิต ดำเนินชีวิต เพื่อการพัฒนาต่อไปได้ ตามศักยภาพและขีดความสามารถที่เขาจะต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น งานพัฒนาหรืองานวิจัย ละการพัฒนา จึงเป็นการแสวงคำตอบที่เปิด ขึ้นอยู่กับตัวเงื่อนไข และศักยภาพของชุมชนนั้นโดยเฉพาะ ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า ในการวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีความสำคัญอย่างมาก ที่เราจะต้องเข้าใจปัญหา วางแนวทาง เพื่อที่จะได้กำหนดทิศทางการวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะตีขีดเส้น เพื่อให้เห็นว่า ขอบเขตการวิจัยมีกว้างขวางแค่ไหน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมต้องการจะพูดเป็นเบื้องแรกครับ
โดยสรุปก็คือ ประการแรก เราคงต้องปลดปล่อยตัวเองออกจากความสนใจเฉพาะด้าน ผมคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่ง ประการที่สอง ต้องมองเห็นว่า เป้าหมายหรือความหมายของการพัฒนานั้น คงไม่เป็นเพียงการจราจรทางเดียว คงไม่ใช่เป็นเพียงกำหนดสิ่งที่เรียกว่า จ.ป.ฐ. แต่หมายความถึง เป็นงานวิจัยที่จะมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีอะไรก็ตาม ที่จะสามารถทำให้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ทีช่องทาง แนวทาง ในการพัฒนาขีดความสามารถของตนเอง เพื่อการช่วยตัวเองได้ และในขณะเดียวกัน ก็มีแนวทางการพัฒนา เพื่อความยั่งยืนสำหรับชีวิตของตัวเอง ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมด้วย สิ่งนี้ น่าจะเป็นข้อคิดเบื้องต้น ที่อยากจะนำเสนอในที่นี้ เพราะฉะนั้น “งานวิจัย จึงเป็นงานที่ขึ้นอยู่กับสำนึกมาก” วิจัยไม่ใช่เป็นเพียงเทคนิควิธีการที่เราร่ำเรียนกันมา ผมจำได้ว่า พอเข้าชั้นเรียน เรื่องการวิจัย ครูบาอาจารย์ก็จะบอกว่า เราเริ่มต้นด้วยวิธีวิจัย (Methodology) กันว่า เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ไม่ใช่ ผมคิดว่า ความสำนึก จิตนาการ สำคัญมากๆ จากสำนึกตรงนี้เป็นเรื่องของการใช้จินตนาการที่จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก โลกนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ในระบบการศึกษาของเรา ยังขัวตัวเองอยู่ในโลกของเก่าอยู่ ตรงนี้เราก็จะต้องปลดปล่อยตัวเองออก นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญ
จากพื้นฐานที่ผมเรียนเป็นเบื้องแรกสงประเด็นใหญ่ๆ ตรงนี้ผมอยากจะนำเข้าไปสู่เนื้อหาที่จะนำเสนอในที่นี้ว่า ถ้าเรามีข้อคิดเบื้องต้นอย่างนี้ เรามองเห็นว่าการพัฒนาต้องพ้นออกจากกระแสการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ระหว่างผู้พัฒนา กับผู้ถูกพัฒนา รวมทั้งการที่จะต้องเข้าใจถึงชีวิต เข้าใจถึงการที่ท้องถิ่นเอง จะต้องเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วม ประเด็นนี้ผมอยากจะเรียนว่า เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักเป็นเบื้องต้น ไม่ใช่ข้อคิด ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะ หรือก้าวข้ามอุปสรรคนี้ได้ เราก็ไม่สามารถออกไปจากแนวทางของเรา หรือความชำนาญการเฉพาะด้าน ซึ่งก็ยากที่จะทำให้เราสามารถมองประเด็นปัญหา เรื่องการวิจัยเพื่อท้องถิ่นอย่างถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นจริงได้
ยกตัวอย่างเช่น ที่ผมเคยทำเรื่องป่าชุมชน จะเห็นว่าตรงนี้เราก็ต้องก้าวข้ามการมอง “การจัดการทรัพยากรป่า” ผมปฏิเสธคำว่า “ป่าไม้” มาโดยตลอด เพราะเราต้องเข้าใจว่า ป่าเมืองไทยไม่ใช่ป่าธรรมดา ไม่ใช่เป็นป่าไม้เท่านั้น แต่เป็นป่าซึ่งเป็นทรัพยากรชีวภาพที่มีค่ามากมาย ตรงนี้เริ่มมีการยอมรับกันแล้วว่า การจัดการในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ร่ำเรียนกันมา ที่อธิบดีกรมป่าไม้คนแรก ซึ่งเป็นคนอังกฤษสอนเราไว้ เป็นสิ่งที่พ้นสมัยไปแล้ว อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ผมอยากจะเรียนว่า เราคงต้องก้าวข้ามการจัดการในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการจัดการแบบเจรจาทางเดียว มาสู่การจัดการในเชิงบทบาทของชุมชนด้วย เราถึงได้พูดถึงเรื่อง “ป่าชุมชน” นี่ก็เป็นตัวอย่าง เรื่องการศึกษา ระบบการศึกษา ก็เช่นเดียวกัน แต่ก่อนนี้เราสอนกันแบบคุณพ่อรู้ดี แต่ปัจจุบันเราเริ่มพูดเรื่องการศึกษาตามอัธยาศัย พูดถึงเรื่อง Home School ดังนั้น จะเห็นว่า สิ่งต่างๆ ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น ซึ่งคงไม่พ้นวิสัยที่ว่า เราจะก้าวข้ามอุปสรรคความคิดความอ่านดั้งเดิมของเราได้
ผมอยากจะแบ่งประเด็นที่ผมพูดนำตรงนี้ว่า ผมพูดในเชิงที่อยากจะกระตุ้นท่าน 3 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นที่ 1 เราจะเข้าใจสิ่งที่เราเรียกว่า “งานวิจัย” กันอย่างไร งานวิจัยไม่ใช่เป็นเพียงให้คำตอบสำหรับความต้องการ หรือจุดประสงค์ของแหล่งทุน หรือของใครโดยเฉพาะ แต่ว่าจะต้องเป็นระบบเปิด
ประเด็นที่ 2 สภาวะความรู้ (The Stage of Knowledge) และความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นที่มีอยู่ ในขณะนี้ เราบอกว่าวิจัยท้องถิ่น โดยมาถึงก็ลงมือวิจัยกัน ตั้งโจทย์กันเอง ถึงจะให้ชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมก็ตาม ผมคิดว่า ถ้าเรามองข้ามสภาวะความรู้ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ ที่ผมใช้คำว่า “ฐานต้นทุนทางภูมิปัญญา” จะทำให้งานวิจัยของเราสัมฤทธิผล แทบเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น เท่ากับว่า เราสร้างวัฒนธรรมการวิจัยและการเรียนรู้ที่ไม่สร้างสรรค์ สมมติว่ามีสถาบันขึ้นมาใหม่ ต่างคนต่างเริ่มขึ้นมาใหม่ ผมว่า อย่างนี้เป็นไปไม่ได้ ที่จะทำให้การวิจัย (Re-search) มาเป็นการแสวงหาความรู้ใหม่ ความรู้ในโลกนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ท่านทั้งหลายที่มาร่วมในที่นี้ ก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เริ่มจากบางสิ่งบางอย่าง แต่คำถามมีอยู่ว่า เราคงต้องทำความเข้าใจว่า ฐานที่เรากำลังมีองค์ความรู้อยู่ ข้อมูลที่มีอยู่คืออะไร? ผมคิดว่าการวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น จะต้องเป็นการวิจัยเพื่อสานต่อตรงนี้ ไม่ใช่มาเริ่มกันใหม่หมด ถ้าเริ่มใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีเงินทุนมากก็ตาม มันจะเป็นการสร้างนิสัยจับจดด้วย อันนี้เป็นจุดอ่อนในโลก ในประชาคมการวิจัยของเราที่เป็นอยู่ขณะนี้
ประการที่ 3 จะตั้งโจทย์วิจัยและรวบรวมข้อมูลกันอย่างไร เพราะว่าการวิจัยนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการแสวง สะสม รวบรวม ประเมิน วิเคราะห์ข้อมูล แต่ “ข้อมูลเพื่อการวิจัย” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง พึ่งตนเอง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น โจทย์ และข้อมูลควรเป็นอย่างไร
การวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับความเป็นไปของโลกในเรื่อง “ความหมายของการวิจัย” ในที่นี้ ไม่ใช่ว่าผมจะเอาเรื่องคำจำกัดความว่าวิจัยคืออะไรมาพูด แต่ว่ามาพูดถึงความหมายของการวิจัย เพื่อที่เราจะได้ตระหนักถึงตัวปัญหาที่เราจะแสวงหาว่า ในการแสวงหาความรู้ใหม่นี้ ให้ความหมายอะไรกับสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ผมขอให้นำเอาบทความของผมเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัฒน์” มา ผมคิดว่ามีบางประเด็นทีเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในส่วนหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดจะเห็นได้ว่า เวลาที่เราพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” ทุกคนจะพุ่งไปที่ไร่นา หรือชนบทหมด แต่โดยแท้จริงแล้ว คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียงในสถานการณ์โลกปัจจุบัน” ผมขอเน้นตรงนี้ว่า เวลาเราพูดอะไร เราต้องรู้ว่าสิ่งนั้นอยู่ในบริบทอะไร บริบทในความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “การวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ไม่ใช่เป็นบริบทของชุมชนชนบทหรือภาคเกษตรกร ที่อยู่ในโลกของตนเองอย่างโดดเดี่ยว แต่อยู่ในโลกของความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เวลาเราพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้หมายถึงเพียงการวาดรูปไร่นา จะทำอะไรให้ไร่นา เพื่อที่จะทำให้พอกิน แต่มีความหมายนัยที่กว้างไกลมาก ถึงกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization เพราะฉะนั้น ในนี้ผมจึงได้ตั้งหัวข้อเอาไว้ตั้งแต่เริ่ม ประการแรกคือพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันเบื้องต้น อย่างที่ผมจะนำเสนอประเด็นตรงนี้ ผมก็ได้พูดเกริ่นแต่แรกว่า เราจะต้องมีความเข้าใจร่วมกัน มิฉะนั้นแล้ว ประเด็นที่เราจะพูดกันต่อไปนั้น ก็จะพูดไปไม่รู้เรื่องกัน
คำว่า “โลกภิวัตน์” “โลกานุวัตน์” นั้น โลกานุวัตน์ (โลกา + อนุวัตน์) คือการประพฤติตามโลก ประพติตามไปเรื่อยๆ ผลของการโลกานุวัตน์ หรือ โลกาภิวัตน์ เป็นเส้นทางที่นำเราไปสู่เส้นทางที่ผมเรียกว่า “เส้นทางสู่เศรษฐกิจเชลย” มาถึงวิกฤติตอนนี้ IMF เข้ามา เรามองเห็นชัดเจน เป็นเส้นทางที่เราเดินไปอย่างนั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมได้พูดเอาไว้ และในขณะเดียวกัน เหตุปัจจัยแห่งปัญหาไม่จำกัดเฉพาะที่เราวางแผนพัฒนาตามฝรั่งตั้งแต่ปี 2504 เท่านั้น เมื่อครู่ โลกานุวัตน์เป็นการว่าไปตามโลก มันเป็นเส้นทางที่นำเรามาสู่การเป็นเชลยทงเศรษฐกิจเช่นขณะนี้ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ผมเรียกว่า “โลกาภิวัตน์ทุนนิยม” นักเศรษฐศาสตร์ไทย โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์จากสภาพัฒน์ชอบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทย เปรียบเสมือนฝูงห่านบินตามกันไป ตัวหน้าบินไปแล้ว ก็บินตามกันไป นั่นคือ การเดินในเส้นทางนั้น ก็เป็นเส้นทางที่กำหนดจากโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นฝ่ายแผ่อำนาจไปทั่วโลก
แม้เราจะวิจัยในระดับท้องถิ่น เราต้องเข้าใจว่า ในกระแสโลกกำลังแปรเปลี่ยนไปจากทุนนิยมธรรมดา ไปสู่สิ่งที่ผมเรียกว่า “วัฒนธรรมการล่าเหยื่อ” จะเห็นว่า ลงทุนที่ไหน นายทุนท้องถิ่นล้มละลายหมด ขณะที่นายทุนท้องถิ่นไทยกำลังล้มละลาย เราก็ต้องออกกฎหมายล้มละลายตามที่ IMF ต้องการด้วยว่าจะล้มละลายอย่างไร ฝรั่งถึงจะได้ต้นทุนคืน ฉะนั้น ที่ไหนก็ตามที่ทุนต่างชาติเข้าไปลง ก็หมายความว่า ที่นั่นต้องมีการปลดพนักงาน ตอนนี้ทุกแห่งเป็นไปอย่างนั้นหมด เจ้าหน้าที่ พนักงานของรัฐ เสมียน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ระดับบริหารที่กำลังถูกปลด เรากำลังถูกบีบให้ทำในสิ่งที่เราเรียกว่า Down sizing เป็นศัพท์เทคนิคที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แล้วการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้สิ่งที่เราพูด “การวิจัยเพื่อท้องถิ่น” จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การวิจัยระดับท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย จะเห็นว่าผมพยายามตีขอบข่ายของปัญหาเรื่องท้องถิ่นเป็นโลกที่กว้างขึ้น มันมีความเกี่ยวข้องกัน แล้วก็ต้องให้ความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ความหมายของคำว่า “การพัฒนาชนบท” ที่ปรับเปลี่ยนไปด้วย ไม่ใช่แค่พูดบอกว่า ต้องปลูกผักอย่างนั้น เลี้ยงสัตว์อย่างนี้ ใช้สารเคมีเท่านี้ ไม่ใช่อย่างนั้น เราจะต้องมองไปเห็นตัวที่ก่อปัญหาด้วย เพื่อเราจำได้พัฒนาชนบท พัฒนาท้องถิ่น แล้วก็ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไม่ใช่ให้สามารถตอบสนองความต้องการแบบพอมีพอกินเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการพัฒนา ที่สามารถตอบปัญหากระแสของโลกานุวัตน์ และโลกาภิวัตน์จากระดับอื่นด้วย นี่ก็เป็นนัยที่ผมได้พูดถึง แล้วจากนั้น ผมถึงมาให้คำนิยาม คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้น เป็นนิยามที่มีพลวัตอย่างสูง ไม่ใช่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่อยู่กับที่ พอมี พอกิน พอใช้ ไม่ใช่แค่นั้น แต่หมายความว่าจะต้องเป็นกระบวนการพัฒนามีขั้นตอนอย่างไร จากพออยู่ พอกิน มาเป็นพัฒนาเพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ จนนำไปสู่ขั้นสุดท้ายในสิ่งที่ผมเรียกว่า “เศรษฐกิจชุมชน”
ผมคิดว่าบทความเรื่องนี้ คงพอให้ท่านทั้งหลายได้เห็นว่า ความหมายของ “การวิจัยเพื่อท้องถิ่น” นั้น มีนัยที่เป็นพลวัต และมีความกว้างอย่างยิ่ง ที่เราจะได้วางทิศทาง และขอบข่ายการวิจัย อย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อท้องถิ่น ในประการสำคัญอย่างยิ่งที่ผมพยายามพูดถึงก็คือว่า ขณะนี้ เป้าหมายสำคัญของโลกาภิวัตน์ ที่ผมกล่าวว่า เป็นเส้นทางที่นำไปสู่วัฒนธรรมการล่าเหยื่อ เพราฉะนั้น การล่าเหยื่อในครั้งนี้ ไม่ได้แผ่อิทธิพลเพื่อเอาผลกำไรเท่านั้น แต่เป็นการล่าเหยื่อที่อาศัยฐานความสามารถทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ เทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะเข้าครอบครองทรัพยากรของโลกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรทางความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีอย่างอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทย เพราะชนบทไทย ท้องถิ่นไทย เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเขตร้อนของโลก ไม่ใช่มีแต่ไม้ อย่างที่เราถูกฝรั่งสอนมาว่า เป็นการจัดการเรื่องการทำไม้ ไม่ใช่นะครับ ตรงนี้มันเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงที่พื้นๆ และเราได้ทำการวิจัยจนเป็นที่ยองรับ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า “โลกาภิวัตน์” ไม่ใช่เป็นเพียงการวิ่งไปทำลายนายทุนท้องถิ่น แล้วก็พยายามที่จะลงทุนเพื่อแสวงผลอย่างเดียว แต่ยังเป็นความพยายามที่จะคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของโลกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรชีวภาพของภูมิภาคป่าเขตร้อน ป่าเขตร้อนของโลกนั้นมีพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 7 ของพื้นที่ดินของโลก แต่เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ประเทศเขตร้อนจึงมักเป็นที่หมายปองของมหาอำนาจตะวันตก มหาอำนาจทางอุตสาหกรรม รวมทั้งสหรัฐฯ แต่ก่อนในยุคอาณานิคมเขาเข้ามาเปิดตลาด ขณะเดียวกันก็ตักตวงทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพไปเก็บไว้ในที่ของเขา ในประเทศของเขา ไปดูพวกสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ ที่อังกฤษ รวมทั้งที่อเมริกา ที่ญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรที่ขนไปจากประเทศเขตร้อนทั้งสิ้น แต่มาในยุคนี้ เมื่อเทคโนโลยีชีวภาพเจริญขึ้น การที่เขาจะเอาทรัพยากรเขตร้อนไปเก็บไว้ในประเทศของเขานั้น อายุไม่ยืน ไม่ยั่งยืน เห็นเขาว่า อย่างมากก็ 5 ปี เพราะมันเป็นทรัพยากรที่ผิดอากาศ ตอนนี้การเข้ามาครอบครองในพื้นที่เขตร้อนเลยถูกกว่า จึงได้มีระบบใหม่ขึ้นมาในยุคระบบอาณานิคม แต่ก่อนไม่มีอย่างนี้ มาในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ หรือทุนนิยม ตลาดเสรีนี้ หมายความว่า ไปที่ไหนก็เสรีทั้งหมดจึงเป็นทุนเสรีที่พยายามจะสร้างระบบใหม่ขึ้นมา เราเรียกว่า “ระบบทรัพย์สินทางปัญญา” ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินเรื่องข้าวพันธุ์หอมมะลิ ทุกวันนี้ต้องยื่นฟ้องต่อศาลโลก ตรงนี้ผมคิดว่า การวิจัยและพัฒนาเพื่อท้องถิ่น คงต้องคำนึงถึงระบบสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาด้วย มันเป็นอาวุธอีกอันหนึ่งของมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจ ที่อาศัยขีดความสามารถทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีที่สำคัญใน๘ระนี้ 2 อย่าง คือ เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล (Information technology) กับ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) กำลังเป็นอาวุธสำคัญ ของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่จะเข้ามาครอบครอง ถ้าสิ่งนี้เข้ามาครอบครองสำเร็จ ก็หมายความว่า จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อขีดความสามารถของวคนในท้องถิ่นที่จะพึ่งตนเองได้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า สังคมในชนบทของเรานั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนกับฐานทรัพยากรไปด้วยกัน เหมือนกับที่ผมได้พูดในตอนต้นว่า การวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น เหมือนเหรียญอันเดียวกัน มีทั้งด้านหัวและด้านก้อย มีทั้งเรื่องคน และเรื่องฐานทรัพยากร เพราะฉะนั้นผมคิดว่า การวิจัยเพื่อท้องถิ่นต้องเข้าใจความเป็นไปของโลก
เมื่อรวมความแล้ว ผมคิดว่า เราต้องเข้าใจความหมายและขอบข่ายของงานวิจัยใน 3 – 4 ประเด็นด้วยกัน ที่น่าจะประกอบในการพิจารณา คิดอ่านในการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 การวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะต้องเป็นการวิจัยที่เริ่มต้นมาจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ตามสมควร ถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ในระดับมหภาค
คำว่า “โครงสร้างระดับมหภาค” นั้น มีทั้ง 2 ระดับ คือ ระดับโลก และระดับรัฐ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกัน อย่างเช่น จอมพลสฤษฎ์ รับแผนพัฒนาจากธนาคารโลก มาจากกระแสโลก แล้วก็มาสู่กระแสรัฐ เพื่อวางแผนพัฒนา เน้นอุตสาหกรรม ชนบทยากจน เมื่อเขาจัดการกับชนบทไปแล้ว ตอนนี้เขากำลังจัดการกับทุนท้องถิ่น กับมืออาชีพทั้งหลาย อย่านึกว่าพวกนายทุน พวกวิชาชีพต่างๆ จะปลอดภัย เพราะว่าขณะนี้ เขาเริ่มเอาทุนมาแทรกแล้วก็ปลดพนักงาน เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่เกษตรกรในชนบทเลย ในเมืองเอง พวกกลุ่มทุนก็ดี ถ้าไม่สวามิภักดิ์กับทุนต่างชาติก็แย่ ดังที่บัญญัตินโยบายรัฐบาลในขณะนี้ โดยเฉพาะนโยบายจากกระรวงการคลัง ท่านทั้งหลายคงจะได้ยิน และอ่านข่าวแทบทุวันว่า การเพิ่มทุน การลดทุน (Recapitalization) หมายความว่า ต้องเอาทุนต่างชาติเข้ามาเสริม มิฉะนั้นจะอยู่รอดไม่ได้ ตอนนี้ก็กำลังเถียงกัน ระหว่างแบงค์ชาติ กับกระทรวงการคลัง คือ นักวิชาการกำลังคัดค้านการนำทุนสำรองมารวมกัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาทางการเงิน นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าท่านทั้งหลายควรจะติดตาม เมื่อรวมความแล้วคือ เรื่องโครงสร้างมหภาคนี้ ส่งผลกระทบสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ในระดับรัฐด้วย เพราะว่านโยบายของรัฐโดยหลักแล้ว จะมาจากผลกระทบของระดับโลก จะเห็นได้ว่า นอกจากการเพิ่มทุนแล้ว เรื่องการแปรรูปจะมาเรื่อยๆ การแปรรูปนี้ ไม่ใช่เพราะธุรกิจ บริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล รวมทั้งมหาวิทยาลัย ขณะนี้ก็กำลังโดนผลกระทบหมด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของท้องถิ่น เราต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย เมื่อเข้าใจแล้ว จะทำอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ประเด็นที่ 2 จะต้องเข้าใจโครงการระดับจุลภาค
ในขณะนี้ ท้องถิ่นไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สมัยก่อน เราเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจกันมาก แต่ช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เราเข้าสู่กระแสส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติอย่างกว้างขวาง ทำให้โครงสร้างทางจุลภาค ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย การวิจัยเพื่อท้องถิ่น ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ผมขอย้อนไปนิดหนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 5 สังเกตดูให้ดี เป็นการปฏิรูปอำนาจ ที่รวมศูนย์ไปอยู่กรุงเทพฯ แต่ยุคนั้นก็ยังละเว้นไว้ในระดับหมู่บ้าน จะเห็นว่า ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านระดับนี้ ให้ชาวบ้านเลือกกันเอง จะดีหรือไม่ดี อยางไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการให้ช่องว่างท้องถิ่นจะมีอิสระตามสมควร แต่ในกระแสการพัฒนาที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างของระบบผู้นำท้องถิ่นได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยยุคนายกชาติชาย ที่บอกจะเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า แล้วพวกเราก็สนับสนุน แต่นั่นเป็นการส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้างของท้องถิ่นอย่างมาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่ผู้นำชุมชนเหมือนสมัยก่อน แต่กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองระดับบน เป็นนายหน้าค้าที่ดิน รับเหมา มาบัดนี้ เราปฏิรูปให้มี อบต. อบจ. ผมเกือบจะเรียกว่า เป็นการปฏิรูปที่ผู้นำชุมชน มีส่วนที่เป็นผู้นำของท้องถิ่นลดน้อยลงมาก ตรงนี้ต้องตระหนัก เพราะฉะนั้น การพัฒนาเพื่อท้องถิ่น จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนก็เป็นแต่ละเรื่อง แต่ประเด็นของผมคืองานวิจัย จะต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วยว่า นี่คือปัญหาโครงสร้างระดับจุลภาคที่จะต้องคำนึงถึง
ประเด็นที่ 3 ในการวิจัยต้องรู้จักบริบทของสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของชุมชนได้ดี
ประเด็นนี้สำคัญมาก เราจะเข้าใจเพียงแค่บริบทอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่มาจากโครงสร้างระดับสูงด้วย เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่กระทบต่อบริบท แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ณ จุดนี้ พื้นฐานของประวัติศาสตร์ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม ยังมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของภูมิปัญญา ตอนนี้เราพูดกันถึงเรื่องปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำทางปัญญา เพราะเวลาที่เราพูดถึงว่า สังคมไทยเป็นสังคมทรัพยากรของภูมิภาคป่าเขตร้อน มันไม่ใช่เป็นต้นทุนทางวัตถุ คือทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่อีกซีกหนึ่งที่ควบคู่ไปกับทรัพยากรทางวัตถุก็คือ ทรัพยากรทางภูมิปัญญา ซึ่งในจุดนี้ เรามองข้ามไม่ได้ ผมคิดว่าระบบการศึกษา ระบบการวิจัยการพัฒนาของเรามองข้ามในสิ่งเหล่านี้ เวลาที่เรามีการวิจัยทางชีวภาพ เรามักจะมองไปที่ตะวันตกอยู่ตลอดเวลา แต่เราหารู้ว่า โดยความจริง ขุมทรัพย์ทางปัญญาของการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยทางชีวภาพนั้น มันอยู่ที่นั่น ผมเรียกร้องเสมอว่า ขอให้นักวิทยาศาสตร์ไททำงานกับชาวบ้าน เพราะว่าเวลาพวกฝรั่ง ญี่ปุ่นเข้ามา เขาก็ได้ชาวบ้านเป็นผู้นำไปชี้เบาะแส ถ้าไม่มีเบาะแส ก็เป็นการยากที่นักวิจัยภายนอกจะเข้าไปหาได้ และการวิจัยของเราไม่สามารถทำสำเร็จได้เลย แต่โดยวัฒนธรรมของเราแล้ว นักวิชาการของเรา โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ค่อยทำงานกับชวาบ้านมากเท่าไหร่ ชาวบ้านไม่ใช่เป็นเพียงลูกหาบเท่านั้น แต่เขายังมีอะไรที่ต้องการจะนำเสนอด้วย ผมอยากเห็นตรงนี้ว่า เป็นการวิจัยที่เท่าเทียมกัน คือ ไม่ใช่เรียกร้องการมีส่วนร่วมเท่านั้น ผมคิดว่าการมีส่วนร่วม เราต้องมองในเชิงบวกให้ได้ อย่ามองในเชิงลบ
อย่างไรก็ตาม ในการที่เราจะเข้าใจถึงสมมติฐานว่า ปัญหาอยู่ที่ไหนนั้น ประเด็นอยู่ที่ว่า ต้องวิจัยไปด้วยว่าจะมีช่องทางการวิจัยอย่างไร คือผมได้พูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า วิจัยให้รูปัญหา แก้ปัญหาความยากจน ปัญหาโภชนาการ แต่ต้องเข้าใจว่า เรามีฐานะอะไรที่จะพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าได้ ดังนั้น ความเข้าใจในบริบทสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องเข้าใจถึงบริบทที่เป็นไป เพื่อที่จะทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราจะให้เขาพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อพัฒนาตนเองต่อไปนั้น เราจะตั้งต้นตรงไหน คงไม่ใช่ตั้งต้นที่กระทรวงสาธารณสุข คงไม่ใช่ตั้งต้นที่กรมนั้น นอกจากบริบททางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์แล้ว เราก็ต้องเข้าใจโครงสร้างจุลภาค โครงสร้างมหภาคด้วย
ประเด็นที่ 4 ต้องเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า “ฐานทรัพยากร”
เราต้องเข้าใจว่า ป่าที่เรามี ไม่ใช่ป่าที่มีแค่ไม้ เราตีค่าเรื่องไม้แล้วก็จัดการโดยสัมปทาน ทุกๆ ตารางเมตรที่เราตัดไม้ หมายความว่าเราได้ทำลายศักยภาพการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือ ท้องถิ่น หมายถึง ศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมหาศาล เพราะเราได้ทำลายทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมสำคัญอย่างน้อยที่สุด 2 ประเภท คือ อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมยา ในขณะเดียวกัน ฐานทรัพยากรก็ไม่ใช่เพียงเรื่องวัตถุธรรม แต่ยังมีเรื่องของนามธรรม จะเห็นว่าในชนบทเรา มีคนที่เป็นหมอหลายคน ทั้งหมอยา และอีกหลายหมอ ผมตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงตั้ง อสม. ในเมื่อเรามีคนของเราอยู่แล้วในท้องถิ่น เราก็เรียกหมอยามา แล้วหมอยาก็หาผู้ช่วยหรืออาสาสมัครเอง แทนที่กระทรวงจะเป็นคนเลือก นี่ก็เป็นตัวอย่าง เรามีหมอยา หมอดิน เรามีทรัพยากรบุคคลมากมาย แต่เราไม่ได้ดึงเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าเราเริ่มต้นจากตรงนั้น เราก็จะได้เห็นถึงบริบทต่างๆ แล้วฐานทรัพยากรก็เป็นฐานที่สามารถทำให้เราหาจุดตั้งต้นที่จะวิจัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้
กระบวนการพัฒนาเชื่อมโยงชนบท เมือง และโลก
ในบทความผมหลายเรื่อง ผมพยายามบอกว่า เราต้องรู้จักธนาคารโลก (World Bank) ต้องรู้จักกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รู้จักองค์การการค้าโลก (WTO) ที่พัฒนามาจาก GATT รวมทั้ง ADB ด้วย เราต้องรู้จักสิ่งนี้ให้ดีว่า องค์กรเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศเหล่านี้ เป็นเพียงมือไม้ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เขาพยายามที่จะให้ประเทศที่กำลังพัฒนา ไปในแนวที่จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหรรม ซึ่งก็หมายความว่า เป็นการพัฒนาที่ทำให้เราอยู่ภายใต้การครอบงำ ทั้งทุน เทคโนโลยี รวมทั้งการตลาด จะเห็นได้ว่าพอถึงจุดนี้ จุดที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา แล้วก็เกิดความวุ่นวายที่มีการประชุมองค์การการค้าโลก ท่านทั้งหลายอ่านข่าวมาก็คงจะจำได้ ตอนนี้องค์กรเหล่านี้กำลังพูดกัน เขาทบทวนเพื่อที่จะวางแนวทางความอยู่รอดของโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ เป็นโครงสร้างที่อยู่ภายใต้การครอบงำของมหาอำนาจอุตสาหกรรมอยู่นั่นเอง มาตอนนี้จะเห็นว่าธนาคารโลก ADB IMF ก็จะมีศัพท์ใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ทั้งธนาคารโลก กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เวลาให้กู้อะไรไป เขาก็จะมีเงื่อนไขที่เรียกว่า Structural Adjustment หรือการปรับโครงสร้าง เหมือนที่เราอ่านขาวทุกวันนี้ก็เช่น ลดจำนวนข้าราชการ แปรรูป โรงพยาบาล โรงเรียน เพื่อเปิดช่องการลงทุนเข้ามา เพราะต่อไปนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อความอยู่รอด ก็ต้องเปิดหุ้นกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ในจุดนี้ ผมคิดว่าเป็นจุดที่กำลังจะมีปัญหา เขาเริ่มคิดใหม่แล้วว่า ถ้าพูดเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจไป จะต้องหันกลับมาให้ภาพพจน์ของธนาคารโลกใหม่ ตอนนี้ เขาเริ่มเปลี่ยนคำว่า Structural Adjustment เป็นโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ADB ก็ทำเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เงินกู้ก็จะเข้าไปเพื่อแก้ปัญหาความยากจน
ผมพูดตั้งแต่แรกว่า “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” คงไม่ใช่เป็นเพียงที่จะตรงไปแบบจราจรทางเดียว ไปแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งจะไม่แตกต่างกับเมื่อยุค จ.ป.ฐ. สิ่งนี้จะไม่แก้ปัญหาเลย เป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้คนยากจนในชนบทต้องพึ่งระบบทุนตลอดเวลา เราอย่าไปหลงคำวลีต่างๆ เวลานี้ ธนาคารโลกจะพูดถึงเรื่อง ธรรมรัฐ (Good Governance) แปลว่า การปกครองที่ดี พูดเรื่องความโปร่งใส มีคนไทย นักธุรกิจไทย ขานรับอยู่ตลอดเวลา และขณะนี้ธนาคารโลกให้งบวิจัยกับ สกว. เรื่องปฏิรูปกฎหมาย เพื่อเปิดช่องให้กฎหมายล้มละลายคล่องตัวขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการเปิดช่องทางทะลุทะลวงของการลงทุน รวมถึงการเปิดช่องทางในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เวลานี้กฎหมายประกอบการธุรกิจคนต่างด้าวผ่านแล้ว เป็นการเปิดช่องให้ธุรกิจการลงทุนมาครอบงำที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างตรงนี้ กำลังเปิดช่องทางที่ส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อพัฒนาตัวเอง ทั้งเรื่องของที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นกระแสที่กำลังโหมเข้ามาอย่างรุนแรงและหนักหน่วง
ผมจึงพูดว่า การมองดูท้องถิ่น จะต้องดูให้เป็นกระบวนการที่จะต้องพัฒนาไปให้ได้ และน่าจะเป็นกระบวนการที่เปิดช่องให้เขาเชื่อโยงกับธุรกิจในเมืองให้ได้ ในรูปของ SME และเราต้องทำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นตัวเป็นตนให้ได้ เรายังไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างพอเพียง มีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีตำรวจเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้แค่คอยไล่จับ เรืองคัดลอก CD เพลง ไล่จับเพื่อทำให้ต่างชาติมีความมั่นใจ แต่เราไม่เคยคิดว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือตำรวจเศรษฐกิจ จะเป็นส่วนที่ทำให้เราสร้างสวรรค์สิ่งที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาอย่างไร ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงไปตั้งอยู่กับประทรวงพาณิชย์ ทำไมไม่อยู่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพราะว่ากระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ส่งออก เพราะฉะนั้น ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนกับการส่งออก จะเป็นว่ามันผิดพลาด
เพราะฉะนั้น การวิจัยของเรา ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นมาก โดยสรุปคือ การวิจัยคงจะต้องตั้งโจทย์ที่เปิดช่องทางให้ชนบทเข้าไปเชื่อมกับในเมืองให้ได้ ผมอยากจะเรียนว่า อนาคตของ SMEs ในเรื่องของอาหารและยา โดยเฉพาะอาหารที่ปลอดสารเคมี กำลังจะเป็นอนาคตของโลก เพราะฉะนั้นผมคิดว่า NGOs ที่ทำงานในภาคเหนือ เรื่องเกษตรยั่งยืน เกษตรทางเลือก อะไรต่างๆ นั้น กำลังจะเป็นอนาคต งานวิจัยต้องมองเห็นอนาคตนี้ให้ชัดเจน และ SMEs จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชนบทสร้างเครือข่ายเกษตร เครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ผมคิดว่านี่เป็นเป้าหมายโดยตรง และเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าของงานวิจัยและงานพัฒนาที่นี่ แต่ไม่ใช่ว่าเราเริ่มต้นพูดกันเรื่อง SMEs ไม่ใช่นะครับ ตอนนี้ผมว่าเราเข้าใจผิดมาก เราข้ามขั้น แต่เราต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ลงตัวพอสมควร ในระดับของเศรษฐกิจชุมชน ผมคิดว่าที่พูดกันมาทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของเทคนิคล้วนๆ แต่จะขึ้นอยู่กับการสร้างระบบคุณค่าใหม่ด้วย
คำว่า “เศรษฐกิจชุมชน” ไม่ได้หมายความว่าเป็นเศรษฐกิจเพื่อการผลิตอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่า เพื่อที่จะหาทางไปต่อกับ SMEs ในเมือง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่า เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ โดยไม่เห็นเงินเป็นสิ่งสูงสุด ผมคิดว่าคำว่า “รายได้” จะต้องมานิยามกันใหม่ ผมขอเสนอตรงนี้ว่า เราต้อนิยามศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์กันใหม่ ผมขอแนะนำให้นักเศรษฐศาสตร์ไปอ่านหนังสือของ Professor Power เรื่อง The Economic Pursued of Equality คือการแสวงทางเศรษฐกิจเพื่อคุณภาพ เวลานี้ เศรษฐศาสตร์ของเราเล่นแต่ปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ Professor Power ได้กล่าวไว้ว่า
“ฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงของท้องถิ่น ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ท้องถิ่นนั้น เป็นสถานที่ที่ดึงดูดความสนใจที่จะร่วมอยู่อาศัย ดึงดูดให้เรามาทำงาน มาทำธุรกิจ หมายความว่า ฐานเศรษฐกิจของท้องถิ่นย่อมรวมไปถึงคุณภาพของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ความมั่นคงปลอดภัย และเสถียรภาพของชุมชน คุณภาพของบริการสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของกำลังคน”
เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ผลิตหรือสร้างขึ้นมาด้วนระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า หรือว่าด้วยการผลิตเพื่อส่งออก ทั้งหมดเล่านี้ถูกสร้างมานอกระบบเศรษฐกิจการค้า แต่ก็เป็นฐานของเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้น ข้อนี้น่าจะทำให้ได้มีการปรับเปลี่ยนความคิดและนโยบายเศรษฐกิจท้องถิ่นของเรา หมายความว่าระบบค่านิยม การบริโภค ต้องเปลี่ยนไป อย่างเช่น ตอนนี้ เราพูดถึงเรื่องข้าวกล้องกัน แต่ผมไปคุยกับชาวบ้าน ไม่มีใครรับประทานข้าวกล้อง อย่างนี้เป็นต้น และในบทความของผม ผมได้เอาประสบการณ์ของผมที่เป็นบทสรุปจากการทำงานที่บุรีรัมย์มา 3 ปี และได้สรุปว่า จริงๆ แล้ว ชนบทต้องการอะไร ที่จะทำให้เกิดการสร้างพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นแกนกลางคือ คน ครอบครัว และชุมชน นั่นเป็นเป้าหมายหลัก และคุณค่าใหม่ที่เราจะต้องสร้างขึ้นนั้น ไม่ใช่ GDP หรือรายได้ แต่ต้องประกอบไปด้วย 3 มิติด้วยกัน คือ
1. มิติการจัดการต้นทุนชีวิต การฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ อากาศ สิ่งพวกนี้ผมถือว่าเป็นต้นทุนชีวิต ผมพูดกับชาวบ้านเสมอว่า ที่ดิน ไร่นา ไม่ใช่สิ่งที่ตีราคาด้วยตัวเงิน แต่หมายความว่า ถ้าเราขายหรือให้เช่า เหมือนกับเป็นการขยายชีวิต
2. มิติดุลยภาพแห่งชีวิต การผลิต การบริโภค ต้องผลิตเพื่อให้เขาบริโภคอย่างถูกสุขอนามัย การแพทย์แผนไทย จะต้องมีการเรียนรู้และพัฒนา
3. มิติการพัฒนาชีวิตและสังคม และการเปลี่ยนคุณค่าใหม่ สำนึกตรงนี้สำคัญมาก และยากกว่าเรื่องเทคนิคมาก
ผมคิดว่าเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่นนั้น เรามีแหล่งที่จะเรียนรู้ได้มากมาย เช่น ที่ภาคใต้ก็เป็นเรื่องออมทรัพย์ของพ่ออัมพร ที่ยโสธรก็เป็นเรื่องระบบเงินตรา หรือสิ่งแลกเปลี่ยนของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาส่งผลกระทบ แต่ผมอยากสรุปว่า ที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น การที่จะคิดเรื่องพัฒนาท้องถิ่นให้ทะลุตามสมควร ต้องเข้าใจถึงปัญหาของกระแสโลกด้วย เพราะจะเป็นการต้านต่อกระแสเงินตราของโลก ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอยู่ในมือของกลุ่มคนไม่กี่คน จะเห็นว่าตลาดหุ้นขึ้นลงตลอดเวลา อยู่ที่ว่าทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อหรือขายมากน้อยเท่าไร ผมจึงคิดว่า การที่ชนบทคิดเรื่องระบบเงินตรา เป็นเหมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้กระแสหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นมา นอกเหนือไปจากกระแสโลก (Globalization) แล้ว ก็เกิดกระแสท้องถิ่น (Localization) ขึ้นมาด้วย กระแสท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก และด้วยเหตุนี้ NGOs เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นมา ชุมชนท้องถิ่นเริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นมา อย่างเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา ออสเตรเลีย คนพื้นเมืองเริ่มลุกขึ้นมาเรนียกร้องสิทธิ สิทธิบรรพบุรุษ สิทธิในแผ่นดิน แล้วรัฐบาลก็ต้องยอมด้วย ในทำนองเดียวกัน “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ก็ไม่ใช่เป็นงานที่เฉพาะพวกเราจะมาคิดในเรื่องของเรา แต่จริงๆ แล้ว เรามีเพื่อนมาก จะเรียกได้ว่า Globalization อีกรูปแบบหนึ่งก็ได้
เรียบเรียงจากเวที Open mind ครั้งที่ 1 “ฐานคิดการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” โดย ศ.เสน่ห์ จามริก วันที่ 24 มีนาคม 2543 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาคเหนือ
http://www.geocities.com/db2545/book1/article1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น